ประวัติความเป็นมาของศิลปะสมัยอยุธยา

               ศิลปะไทย หมายถึง ผลงานศิลปะที่มีการคิดค้นและสร้างสรรค์ตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยซึ่งมีรูปแบบและวิธีการเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์โดยมีการประยุกต์สร้างสรรค์ และมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ศิลปะไทยเป็นสิ่งที่ศิลปินครูช่างโบราณของไทยได้สร้างสรรค์ขึ้น เป็นศิลปะที่มีเอกลักษณ์ โดยสร้างสรรค์จากอุดมคติของศิลปินมาสู่ความจริงตามธรรมชาติและได้มีการถ่ายทอดกันไปตามยุคสมัย จนถึงปัจจุบัน
                ศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ความงามอย่างนิ่มนวลมีความละเอียดปราณีต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยและจิตใจของคนไทยที่ได้สอดแทรกไว้ในผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น โดยเฉพาะศิลปกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของไทย อาจกล่าวได้ว่าศิลปะไทยสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมพุทธศาสนา เป็นการเชื่อมโยงและโน้มน้าวจิตใจของประชาชนให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา
ภาพไทย หรือ จิตรกรรมไทย จัดเป็นภาพเล่าเรื่องที่เขียนขึ้นด้วยความคิดจินตนาการของคนไทย มีลักษณะตามอุดมคติของกระบวนงานช่างไทย คือ
1. เขียนสีแบน ไม่คำนึงถึงแสงและเงา นิยมตัดเส้นให้เห็นชัดเจน และเส้นที่ใช้ จะแสดงความรู้สึกเคลื่อนไหวนุ่มนวล
2. เขียนตัวพระ-นาง เป็นแบบละคร มีลีลา ท่าทางเหมือนกัน ผิดแผกแตกต่าง กันด้วยสีร่างกายและเครื่องประดับ
3. เขียนแบบตานกมอง หรือเป็นภาพต่ำกว่าสายตา โดยมุมมองจากที่สูงลงสู่ ล่าง จะเห็นเป็นรูปเรื่องราวได้ตลอดภาพ
4. เขียนติดต่อกันเป็นตอน ๆ สามารถดูจากซ้ายไปขวาหรือล่างและบนได้ทั่ว ภาพ โดยขั้นตอนภาพด้วยโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง และเส้นสินเทาหรือ คชกริด เป็นต้น
5. เขียนประดับตกแต่งด้วยลวดลายไทย มีสีทองสร้างภาพให้เด่นเกิดบรรยากาศ สุขสว่างและมีคุณค่ามากขึ้น
               จากบทความข้างต้นที่ได้เกริ่นนำนั้นทางผู้จัดทำได้สนใจศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของศิลปะไทยในสมัยอยุธยาจึงได้ทำการเรียบเรียงข้อมูลไว้ดังต่อไปนี้

ประวัติความเป็นมาของศิลปะไทยสมัยอยุธยา
ศิลปอยุธยาซึ่งเริ่มต้นแต่ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ในระยะเวลาประมาณ ๔๑๗ ปีนี้ กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานี มีราชวงศ์ต่างๆ และพระมหากษัตริย์ที่สืบสันตติวงศ์ตามลำดับ โดยต่างได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาควบคู่กันไปกับศิลปะ ซึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่าศิลปที่สร้างสรรค์ขึ้นนั้นเป็นการรับใช้สังคมและศาสนา ศิลปสมัยอยุธยาเป็นศิลปที่รวมรับเอาแบบอย่างของศิลปะที่ใกล้เคียงมาเป็นศิลปะที่เกิดใหม่ คือศิลปะสมัยอยุธยา ประติมากรรม ประณีตศิลป์ รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นช่วงระยะเวลาของศิลปะไทยสมัยอยุธยา ได้เป็น 4 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ยุคแรก ยุคที่สอง ยุคที่สาม และยุคที่สี่



ศิลปะไทยสมัยอยุธยายุคแรก
การก่อสร้าง สถาปัตยกรรมต่างๆ เริ่มมีมาแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง พ.ศ. ๑๘๙๓ เป็นระยะเวลาที่ไทยใกล้ชิดกับเขมรกัมพูชามาก และในรัชกาลต่อ มา กัมพูชายอมอยู่ภายใต้อำนาจไทย การก่อสร้างโดยเฉพาะวัดวาอารามต่างๆ จึงมีลักษณะอิทธิพลเขมรมากกว่าอิทธิพลแบบศิลปสมัยสุโขทัย  นิยมสร้างพระปรางค์เป็นหลักประธานของวัด ถึงแม้ว่าบางวัดจะสร้างเป็นเจดีย์ทรงกลม แต่ก็มีเป็นส่วนน้อย  การสร้างพระปรางค์เป็นหลักประ ธานของวัดแล้ว ลวดลายที่ประดับก็เลียนแบบลายของศิลปแบบสมัยลพบุรี แต่มีการย่อมุมที่ปรางค์มากกว่าแบบปรางค์ของขอม และเปลี่ยนเป็ นการใช้อิฐแทนการใช้หิน เช่น ปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งพระเจ้าอู่ทองทรงสร้าง ปรางค์ที่วัดพระราม  พระราเมศวรทรงสร้างปรางค์วัดราชบูร ณะ   สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง และมีปรางค์ที่หัวเมืองที่สำคัญ คือ ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทรงสร้างปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้าง ปรางค์เหล่านี้แต่เดิมมีลวดลายตามกลีบขนุนและซุ้มต่างๆ แต่เป็นปั้นปูนและได้หลุดร่วงไปตามกาลเวลา
การก่อสร้างที่เป็นรูปทรงอาคาร นิยมสร้างแบบทึบๆ ไม่มีหน้าต่าง แต่จะเจาะช่องแสงเป็นแบบซี่กรง ที่ทำเช่น นี้อาจจะเป็นเพราะการก่อผนังไม่มีการแบ่งเป็นระยะ ใช้วิธีก่ออิฐรวดเดียวจากพื้นถึงสุดชายคาไม่มีการวางคาน เหนือช่องหน้าต่างจึงพังได้ง่าย ฉะนั้นช่องหน้าต่างจึงต้องทำแบบลูกกรง


ศิลปะไทยสมัยอยุธยายุคกลาง
ศิลปอยุธยายุคกลาง เราถือกันว่าเริ่มแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม รวมระยะเวลา ๑๘๐ ปี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เคยประทับที่พิษณุโลกเมื่อยังเป็นพระยุพราช ต่อมาได้ย้ายราชธานีไปอยู่พิษณุโลก ทรงใกล้ชิดกับประเพณีต่างๆ ทางสุโขทัย อิทธิพลของสุโขทัยจึงเริ่มแพร่หลายมายังกรุงศรีอยุธยา เช่น คติการสร้างวัดไว้ในเขตพระราชวัง การก่อสร้างสถาปัตยกรรมก็เริ่มนิ ยมแบบสุโขทัย คือการสร้างเจดีย์ทรงกลมที่เราเรียกกันว่า เจดีย์แบบทรงลังกา ถึงแม้ว่าในระยะต้นๆ ยังนิยมสร้างเจดีย์ประธานของวัดเป็นแบบปรางค์ เช่น ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก โดยการเปลี่ยนแบบของเจดีย์ทรงดอกบัวแบบสุโขทัย แต่ก็มีเพียงองค์เดียวเท่านั้น ในสมัยนี้การสร้างเจดีย์ทรงกลมแบบทรงลังกาถ้า ดูเผินๆ แล้วจะเห็นว่า มีลักษณะเหมือนกับเจดีย์ทรงกลมสมัยสุโขทัย แต่ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นว่า มีความแตกต่างกันจนเราสามารถแยกสมัยได้ เช่น ตอนยุคที่ต่อจากบัลลังก์ เจดีย์สมัยสุโขทัยไม่นิยมมีฐานรองรับเสาที่เราเรียกว่า เสาหาร แต่เจดีย์สมัยอยุธยานิยมมีเสาหารและตอนฐานที่ต่อกับองค์พระระฆังกลมจะมีชั้นรับซึ่ งเราเรียกกันว่าชั้นมาลัย ซึ่งชั้นมาลัยเถาของเจดีย์สมัยสุโขทัยสร้างคล้ายๆ ฝาหม้อดิน ซ้อนกันสามชั้น จึงเรียกว่า บัวฝาละมี ส่วนเจดีย์ทรงกลมของอยุธยายุคที่สอง นิยมสร้างเป็นวงกลมแบบเส้นลวดคล้ายกับการสวมกำไลสามอัน จึงเรียกว่า มาลัยเถา
การสร้างอาคารยังมีลักษณะทึบแบบยุคแรก การใส่หน้าต่างยังไม่มี ด้านข้างของอาคารยังมีปีกของหลังคาชั้นสุดท้ายคลุม มีเสารองรับ ที่เรียกกันว่าพะไล เสาที่เกี่ยวกับอาคารสถาปัตยกรรมเป็นเสาแบบเสากลม บัวหัวเสาเป็นแบบบัวกลุ่ม เช่นวิหารหลวงที่วัดพระศรีสรรเพชญ และมีการสร้างเจดีย์รายโดยรอบ วัดพระศรีส รรเพชญมีวิหารเล็กๆ อยู่ทางด้านหน้าเจดีย์ และวิหารเหล่านี้คงสร้างเป็นระยะสืบต่อมา เจดีย์ที่เราจัดเป็นสถาปัตยกรรมยุคหรือระยะที่สอง ได้แก่ เจดีย์วัดวังชัย เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล และเจดีย์วัดวรเชษฐาราม เจดีย์เห ล่านี้ ฐานตอนรับองค์ระฆังเป็นแบบแปดเหลี่ยม นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมยุคที่สองอย่างแท้จริง


ศิลปะไทยสมัยอยุธยายุคที่สาม
เริ่มตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๗๓ ถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ระยะเวลาประมาณ ๗๓ ปี เราจัดว่าเป็นยุคที่อยุธยาเจริญรุ่งเรืองที่สุด โดยเริ่มแต่พระเจ้าปราสาททองแผ่พระบรมเดชานุภาพไปถึงกรุงกัมพูชา ทรงโปรดปรานศิลปะแบบเขมร เช่น โปรดให้สร้างวัดไชยวัฒนาราม ตรงพระนิวาสสถานเดิม โดยโปรดให้ถ่ายแบบปราสาทจากกัมพูชา มีการสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด มีปรางค์ใหญ่อยู่กลาง ปรางค์เล็กเป็นบริวารสี่องค์ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ มีระเบียงคดล้อมรอบ ตอนมุมและตอนกลางของระเบียงคดสร้างเป็นแบบปราสาททิศทรงเมรุ แบบอยุธยาอยู่แปดทิศ ทางด้านหน้ามีพระวิหารหลวงตั้งอยู่ไม่มีระเบียงคด แต่ทำเป็นกำแพงแก้วต่อจากผนังพระอุโบสถชักออกเป็นสองด้านแบบย่อมุมไม้สิบสอง และที่อำเภอพระนครหลวงปัจจุบัน ได้โปรดให้สร้างพระตำหนักประทับร้อนเป็นแบบปราสาทสามชั้น ปัจจุบันปราสาทชั้นแรกยังอยู่ในสภาพเรียบร้อย และที่วัดพระนครหลวงได้โปรดให้สร้างเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ซึ่งเป็นแบบเดียวกับเจดีย์ย่อเหลี่ยมที่วัดชุมพลนิกายาราม อำเภอบางปะอิน เจดีย์ทิศรอบเจดีย์ใหญ่เป็นเจดีย์ทรงกลม แต่บัลลังก์ที่รับยอดเป็นบัลลังก์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง เจดีย์เหลี่ยมสมัยพระเจ้าปราสาททองนี้ ได้เป็นแม่แบบแก่เจดีย์ย่อเหลี่ยมในสมัยต่อๆ มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์      
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นระยะเวลาที่ไทยได้ติดต่อกับยุโรป วิทยาการต่างๆ จึงหลั่งไหลเข้าสู่อยุธยา ทั้งศิลป วัฒนธรรม ศาสนา การ ก่อสร้างต่างๆ เช่น การสร้างตึก โบสถ์ วิหาร มีการเจาะหน้าต่าง   มีการนำเอาแท่งหินทำคานเหนือหน้าต่าง แบ่งเบาการรับน้ำหนักของผนัง การเจาะหน้ าต่างมีทั้งแบบสี่เหลี่ยมและแบบโค้งแหลม แบบโกธิคหรือแบบที่เรียกในภาษายุโรปว่า Pointed Arch คือการทำให้โค้งอยู่ได้โดยการกดน้ำหนักด้วย อิฐรูปลิ่มห้าก้อนตอนกลางของโค้งแหลม การสร้างกำแพงเมืองป้อมปราการประตูต่างๆ เป็นแบบซุ้มโค้งแหลม เช่น ประตูเมือง และประตูพระราชวังน ารายณ์มหาราชนิเวศน์ที่ลพบุรี มีการก่อสร้างผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและยุโรป เป็นต้นว่า พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท พระที่นั่งสุธาส วรรค์อันเป็นที่ประทับแบบตึกสองชั้น เริ่มมีในประเทศไทย การสร้างอาคารแบบมีชั้นลด  เช่น ตึกตำหนักเย็น หรือพระที่นั่งไกรสรสีหราชกลางทุ่งทะเ ลชุบศรที่ลพบุรี โดยทางด้านมีท้องพระโรง มุขเด็จแบบสีหบุญชร ส่วนในเป็นห้องแบบพระวิมานที่บรรทมแบบไทย การตกแต่งแบบมีฐานสิงห์สมมุติ แบบแข้งสิงห์ น่องสิงห์ นมสิงห์ ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ เช่น ฐานตู้พระธรรมต่างๆ แบบตู้ฐานสิงห์ แบบที่พบที่วัดเซิงหวาย หรือตู้ที่เขียนลายเป็นรูปคนเปอ ร์เซีย หรือคนทางยุโรป ซึ่งเราเชื่อกันว่า เป็นรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และกษัตริย์โอรังเซ็ปแห่งเปอร์เซีย ฐานตู้ก็ทำเป็นแบบสิงห์สมมุติและยังมีฐานสิง ห์อีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า สิงห์หย่ง ทำไมเรียก สิงห์หย่ง เพราะมีแต่แข้งสิงห์ ท้องสิงห์ นมสิงห์ แต่ไม่มีฐานหน้ากระดานรองรับ เช่น ฐานสีหบัญชร และบานพระบัญชรที่พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทที่ลพบุรี เป็นต้น


ศิลปะไทยสมัยอยุธยายุคที่สี่
เริ่มแต่รัชกาลพระเจ้าบรมโกศ พ.ศ.๒๒๗๕-๒๓๑๐ เราจัดเป็นระยะของการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์มากกว่า จะเป็นการสร้างขึ้นใหม่ เช่น การปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทให้งดงาม ใส่บราลีที่สันหลังคาปิดทองประดับกระจก  การใส่บราลี คือ ตุ้มเม็ดแหลมที่ยอดในสถาปัตยกรรมไทยนั้น เรามีมาแล้วแต่ก่อน อยุธยา สมัยลพบุรีมีเป็นแบบหิน แต่สมัยสุโขทัยพบเป็นชนิดที่ทำด้วยสังคโลกเคลือบสีเขียวและขาว ได้ซ่อมหลังคาพระวิหารพระมงคลบพิตรเป็นแบบมุขโถงด้านหน้า แบบมุขลดใต้ขื่อ มีพะไลด้านข้างวิหารพ ระแท่นศิลาอาสน์ วิหารหลวงวัดบรมธาตุ อุตรดิตถ์ โบสถ์วัดหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยาอันเป็นโบสถ์ขนาดเล็กทรงงดงามมาก เป็นโบสถ์ชนิดมีพะไลข้าง มีมุขลดทางด้านหน้า ซึ่งลักษณะสถาปัตยกรรมเช่น นี้ เป็นแบบที่งดงามลงตัวในด้านการตกแต่ง  และได้เป็นแบบที่ต่อเนื่องมาถึงกรุงเทพฯ ตอนต้น คือ พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น

สรุป

ศิลปะอยุธยาไม่ได้เสื่อมไปไหน แต่สูญสิ้นไปมากต่อมากกับการถูกทำลายตอนกรุงแตก  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ที่เหลือให้เราได้ชื่นชมเป็นเพียงน้อยนิดและกำลังจะหมดไปตามกาลเวลา หรือจากความรู้และความไม่รู้ หรือจากความจงใจหรือไม่ตั้งใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องแวดล้อม ก็เป็นไปตามวัฏจักร สิ่งที่เหลืออยู่ก็เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของเราผู้ที่รักศิลปะและชื่นชอบศิลปสมัยอยุธยา
Creative Commons License
ศิลปะสมัยอยุธยา by ธนกร สุขไพศาล is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น